นิทานพื้นบ้านแต่ละภาค

นิทานพื้นบ้านแต่ละภาค


                                            

  ภาคใต้

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง นายดั้น (จ.นครศรีธรรมราช)

           นิทานเรื่อง นายดั้น เขียนบันทึกลงในสมุดข่อย ต้นฉบับเป็นของวัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะเวลาที่แต่งนิทาน คงอยู่ในระยะรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แต่งด้วยกาพย์ 3 ชนิดคือ กาพย์ยานี 11, กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง สวดอ่านนิทานในยามว่าง โดยนิทานเรื่องนายดั้นมีเนื้อเรื่องดังนี้

           นายดั้น เป็นคนตาบอดใส อยากได้นางริ้งไรเป็นภรรยา จึงส่งคนไปสู่ขอและนัดวันแต่ง โดยฝ่ายนางริ้งไรไม่รู้ว่าตาบอด เมื่อถึงวันแต่งงานนายดั้นพยายามกลบเกลื่อนความพิการของตนโดยใช้สติปัญญาและไหวพริบต่าง ๆ แก้ปัญหา เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าภาพขึ้นบนบ้าน นายดั้นกลับนั่งตรงนอกชาน เมื่อคนทักนายดั้นจึงแก้ตัวว่า "ขอน้ำสักน้อย ล้างตีนเรียบร้อย จึงค่อยคลาไคล ทำดมทำเช็ด เสร็จแล้วด้วยไว แล้วจึงขึ้นไป ยอไหว้ซ้ายขวา"

           ขณะอยู่กินกับนางริ้งไร วันหนึ่งนางริ้งไรจัดสำรับไว้ให้แล้วลงไปทอผ้าใต้ถุนบ้าน นายดั้นเข้าครัวหาข้าวกินเองทำข้าวหกเรี่ยราดลงใต้ถุนครัว นางริ้งไรร้องทักว่าเทข้าวทำไม นายดั้นจึงแก้ตัวว่า "เป็ดไก่เล็กน้อยบ้างง่อยบ้างเพลีย ตัวผู้ตัวเมีย ผอมไปสิ้นที่ อกเหมือนคมพร้า แต่เพียงเรามา มีขึ้นดิบดี หว่านลงทุกวัน ชิงกันอึ่งมี่ กลับว่าเรานี้ ขึ้งโกรธโกรธา"

           วันหนึ่งนางริ้งไรให้นายดั้นไปไถนา นายดั้นบังคับวัวไม่ได้ วัวหักแอกหักไถหนีเตลิดไป นายดั้นจึงเที่ยวตามวัว ได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แห้งชายป่า เข้าใจว่าเป็นวัว จึงวิดน้ำเข้าใส่เพื่อให้วัวเชื่อง นางริ้งไรมาเห็นเข้าจึงถามว่าทำอะไร นายดั้นได้แก้ตัวว่า "พี่เดินไปตามวัว ปะรังแตนแล่นไม่ทัน จะเอาไฟหาไม่ไฟ วิดน้ำใส่ตายเหมือนกัน ครั้นแม่บินออกพลัน เอารังมันจมน้ำเสีย"

           อยู่มาวันหนึ่งนายดั้นจะกินหมาก แต่ในเชี่ยนหมากไม่มีปูน จึงร้องถามนางริ้งไร นางบอกที่วางปูนให้ แต่นายดั้นหาไม่พบ ได้ร้องถามอีกหลายครั้งแต่ก็ยังหาไม่พบ นายดั้นจึงร้องท้าให้นางริ้งไรขึ้นบ้านมาดู หากปูนมีตามที่บอก จะยอมให้นางริ้งไรเอาปูนมาทาขยี้ตา นางริ้งไรจึงเอาปูนมาทาขยี้ตานายดั้น นายดั้นถือโอกาสจึงร้องบอกว่าตาบอดเพราะปูนทา นางริ้งไรจึงต้องหายามารักษาจนตาหายบอดได้บวชเรียน

           นิทานเรื่องนายดั้น ให้แนวคิดดังนี้

           1. สะท้อนภาพของสังคมชนบทนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านยึดถือความมีน้ำใจต่อกัน คอยช่วยเหลือกันโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

           2.ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่เน้นความเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยากถือเอาความสะดวกง่ายเป็นหลักมีการเล่นหัวหยอกล้อกันโดยไม่ถือสา

           3. ผู้มีปัญหาและปฏิภาณไหวพริบดี จะเป็นผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้สำเร็จแม้จะประกอบกิจการงานใดก็จะสำเร็จด้วยดี

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง กินเหล้าแล้วอายุยืน (จ.นครศรีธรรมราช)

           นานมาแล้วมีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งชอบกินเหล้าเป็นชีวิตจิตใจ งานการก็ไม่เคยนำพาเรื่องบุญกุศลก็ไม่เคยทำ แต่การทำบาปแกก็ไม่เคยทำเช่นกัน ครอบครัวของแก มีอยู่ด้วยกันสามคน คือ ตัวแกเองพร้อมด้วยเมียและลูกอีกคนหนึ่ง ชายคนชอบกินเหล้าผู้นี้คิดอยู่เสมอว่าก่อนที่แกจะตายลงนั้นก็ขอให้ลูกชายได้บวชเสียก่อน เพราะแกอยากเห็นชายผ้าเหลืองของลูก แต่ชายคนนั้นก็ได้ตายลงเสียก่อนที่จะได้บวชลูก เมื่ออายุของแกได้ห้าสิบปีพอดี ก่อนที่จะตายนั้น แกได้สั่งให้ลูกเมียของแก เอาเหล้าใส่โลงไปด้วยสักสองสามขวดเผื่อหิวเหล้าขึ้นมาก็จะได้กินในปรโลก

           เมื่อชายคนนั้นได้ลงไปอยู่ในเมืองนรกแล้ว ยมบาลก็ถามว่า "ทำไมถึงได้ชอบกินเหล้านักล่ะ เหล้านั้นมันเอร็ดอร่อยมากหรือไรกัน" แกก็ตอบออกไปว่า "อันเหล้านั้น ถ้าได้กินมันเข้าไปแล้ว ก็จะ…….รู้รสชาติทันทีว่า ไม่มีอะไรแล้วในโลกมนุษย์จะอร่อยเท่า บอกไม่ถูกอธิบายไม่ได้ว่ามันมีรสชาติอย่างไร ต้องกินดูเองถึงจะ……รู้" ยมบาลจึงพูดว่า "ในเมืองนรกของเรานี้ไม่มี ไม่งั้นแล้วเราจะลองชิมดูว่ามันจะเอร็ดอร่อยเหมือนดังคำกล่าวของท่านจริงหรือไม่" 

           ชายผู้ชอบกินเหล้าคนนั้นจึงบอกกับยมบาลว่า แกได้นำมันมาด้วย ถ้ายมบาลจะลองชิมดูก็มีให้ลอง ยมบาลจึงได้ชิมเหล้าของชายคนนั้นเข้าไป ชิมไป ๆ ยมบาลก็ชักติดใจในรสชาติของมัน จึงได้ขอเหล้าชายคนนั้นกินจนหมดขวด ยมบาลจึงได้เมาขึ้นมาทันที เพราะไม่เคยกินเหล้ามาก่อนหรือเพราะคอยังอ่อนอยู่นั่นเอง 

           ในเวลาต่อมา ยมบาลก็ได้ชอบพอกันกับชายคนนั้น จนกระทั่งสัญญาเป็นเพื่อนเกลอกัน แล้วบอกชายคนนั้นว่า "ถ้าแกต้องการอะไรที่พอผ่อนปรนกันแล้วก็ขอให้บอกมาเถิดเราจะช่วยเหลือ" ชายคนนั้นจึงบอกยมบาลว่า "ในชีวิตของแกไม่เคยได้ทำบุญอะไรเลย แกจึงอยากเห็นชายผ้าเหลืองของลูกชายสักครั้ง" แล้วแกจึงขอร้องต่อยมบาลว่า "ขอมีอายุต่อไปอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เพื่อบวชลูกชายได้หรือไม่" ด้วยความรักใคร่สงสารต่อชายผู้นั้นเป็นพิเศษ ยมบาลก็อนุญาตด้วยการต่ออายุให้ แล้วลงไว้ในบัญชีของยมโลก โดยยมบาลเพิ่มอายุให้อีกหนึ่งปี จึงได้เขียนเลข 1 ต่อจากเลข 50 ซึ่งเป็นอายุขัยของชายผู้นั้นลงในบัญชีทันที แต่ด้วยความเมาของยมบาลเอง จึงเลยลืมลบเลข 0 ออกเสียก่อน จึงกลายเป็นว่าชายคนนั้นมีอายุไปจนถึง 501 ปี


           เมื่อยมบาลต่ออายุให้แล้ว ชายผู้ชอบกินเหล้าคนนั้นก็ได้ฟื้นกลับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง แกก็ได้จัดการบวชลูกชาย จนได้เห็นชายผ้าเหลืองสมความตั้งใจแล้ว แกก็รอวันตายของแกเรื่อยมาแต่ก็ไม่ตายสักที จนกระทั่งเมีย ลูก หลาน เหลน ได้พากันตายไปแล้วเกือบทุกคนแต่แกก็ยังไม่ตายอยู่นั่นเอง ทำให้ชายผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างทรมานใจเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องอยู่ และเห็นคนที่แกรักตายจากไปทีละคนสองคนอยู่เสมอ

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ เรื่อง ตากใบ (จ.นราธิวาส)

           เมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งล่องเรือสำเภามาจากประเทศจีน เพื่อไปขายสินค้ายังแหลมมลายู ในเรือสำเภานั้นได้บรรทุกสินค้า เครื่องปั้นดินเผามาเต็มลำเรือ เช่น เครื่องลายคราม ชามเบญจรงค์ โอ่ง ไห ลายมังกร เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีลวดลายสีสันงดงามมาก

           วันหนึ่งขณะที่เรือสำเภาแล่นอยู่กลางทะเลใกล้ปากอ่าวทางตอนใต้ของไทยได้บังเกิดลมพายุ คลื่นลมแรงจัดมาก จนในที่สุดเรือกำลังจะจม พ่อค้าจีนจึงได้สั่งให้ปลดใบเรือลง จากนั้นเรือค่อย ๆ จมลงในท้องทะเล

           พ่อค้าจีน ไต้ก๋ง พร้อมลูกเรือทุกคนได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง จนสามารถขึ้นเกาะที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งได้ทุกคน เมื่อคลื่นลมสงบทุกคนจึงพากันไปกู้เรือและนำสินค้าขึ้นฝั่งได้สำเร็จ จากนั้นจึงเอาใบเรือเสื้อผ้า ขึ้นไปตากตามต้นไม้และกิ่งไม้

           มีแขกมลายูคนหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไปขาย ได้มาตัดไม้ใกล้บริเวณที่พ่อค้าจีนตากใบเรือและเสื้อผ้า เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้น แขกมลายูจึงคิดที่จะขโมย จึงไปตัดต้นไม้ที่มีเสื้อผ้าตากอยู่ แต่พ่อค้าจีนและลูกเรือกลับมาเห็นเสียก่อนจึงร้องตะโกนขึ้นว่า เจ๊ะ….เฮ้ ๆ ๆ ๆ เอาเสื้อผ้าอั้วคืนมา แขกมลายูตกใจมาก จึงกล่าวขอโทษและรักปากว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก พ่อค้าจีนและลูกเรือทั้งหมดจึงยกโทษให้ และได้อาศัยทำมาหากินบนเกาะนี้อย่างมีความสุข

           ต่อมาได้มีพ่อค้าสำเภาจีนลำอื่นล่องเรือมาค้าขายบนเกาะนี้มากขึ้น สินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาขายมีชามเบญจรงคฺ์ โอ่ง ไหลายมังกร เครื่องลายคราม จนทำให้ชาวเกาะแห่งนี้มีเครื่องใช้เหล่านี้ทุกครัวเรือน นับเป็นการนำศิลปะ ประติมากรรมมาเผยแพร่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสามารถไปชมได้ที่วัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

อ่านต่อ http://hilight.kapook.com/view/80884



ภาคเหนือ


นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ลานนางคอย จังหวัดแพร่

          ถ้ำผานางเป็นถ้ำสวยงามอยู่ในจังหวัดแพร่ ปากถ้ำอยู่ภูเขาสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เมตร มีบันไดไต่เลียบเลี้ยววกขึ้นไปจนสุดทาง บันไดเป็นดินและหิน มีลานกว้างเป็นที่นั่งพัก ก่อนจะเข้าสู่ถ้ำด้านขวามือเป็นซอกเขา มีทางขึ้นไปไม่สูง ข้างบนมีลานหินเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่นั่ง เรียกกันว่า ลานนางคอย

          เรื่องถ้ำผานางและลานนางคอยมีอยู่ว่า ครั้นอาณาจักรแสนหวียังเจริญรุ่งเรือง เจ้าผู้ครองนครมีราชธิดาผู้สิริโฉมงดงามมาก นามว่านางอรัญญนี วันหนึ่งนางเสด็จประพาสโดยเรือพระที่นั่งเกิดมีพายุใหญ่พัดกระหน่ำมา ทำให้เรือพระที่นั่งพลิกคว่ำนางอรัญญนีพลัดตกลงในน้ำ ฝีพายหนุ่มคนหนึ่งได้กระโดลงไปช่วยชีวิตนางไว้ได้ ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองคนก็ได้ลอบติดต่อรักใคร่กันโดยปิดบังไม่ให้พระราชบิดาของนางล่วงรู้

          จนนางอรัญญนีตั้งครรภ์ขึ้น พระราชบิดาของนางกริ้วมาก สั่งให้โบยนางและกักขังไว้ แต่คนรักของนางก็ได้ลอบเข้าไปหาถึงในที่คุมขัง และพานางหลบหนีไป เมื่อเจ้าครองนครทรงทราบก็สั่งให้ทหารออกติดตามคนทั้งสอง ทหารขี่ม้าทันทั้งสองคนที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง และยิงธนูไปหมายจะเอาชีวิตชายหนุ่ม แต่ธนูพลาดไปถูกนางอรัญญนีได้รับบาดเจ็บสาหัส สามีของนางจึงพานางเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ

          นางอรัญญนีรู้ตัวว่า คงไม่รอดชีวิต จึงขอร้องให้สามีหนีเอาตัวรอดโดยให้สัญญาว่าจะรออยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ตลอดไป ชายหนุ่มจึงจำใจต้องจากไปตามคำขอร้องของนาง ส่วนนางอรัญญนีก็นั่งมองดูสามีควบม้าหนีห่างไปจนลับตา และสิ้นใจตายอยู่ในถ้ำแห่งนั้น ลานที่นางนั่งดูสามีควบม้าจากไปนั้น ต่อมาเรียกว่า ลานนางคอย ส่วนถ้ำแห่งนั้นก็ได้ชื่อว่า ถ้ำผานาง


นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

          เมืองลับแลเป็นอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เดิมคงเป็นเมืองที่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล

          มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งเข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็เข้าไปในเมืองด้วยความสงสัย ชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก

          ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่า คนในหมู่บ้านนี้ ล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอมแต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

          วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้เลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้ว ๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก

          จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดิน ทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขารู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้น เรื่อย ๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิมบรรดาญาติมิตรต่างก็ ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา

          ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไม้หมดแล้ว และเมื่อขุดดูก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทองแต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตาม

อ่านต่อ http://hilight.kapook.com/view/80855


ภาคเหนือ


นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : ไกรทอง (จ.พิจิตร)
          ชาละวันเป็นจระเข้เจ้า อาศัยอยู่ในถ้ำทองใต้บาดาล ในถ้ำทองจระเข้ จะกลายร่างเป็นคนได้ ชาละวันตอนกลายร่างเป็นคนจะเป็นหนุ่มรูปงาม โดยชาละวันเองมีเมียสาวสวยเป็นนางจระเข้ 2 ตัวคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ ชาละวันเป็นหลานชายของ ท้าวรำไพ ผู้เป็นจระเข้เจ้าที่อยู่ในศีลธรรม ไม่เคยจับสัตว์หรือมนุษย์กินเป็นอาหารและจะกินแต่ซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหารเท่านั้น ชาละวันแม้อยู่ในถ้ำทองจะอิ่มทิพย์ไม่ต้องกินเนื้อ แต่ด้วยความมีนิสัยที่เป็นอันธพาล จึงชอบมาเมืองบนตามแม่น้ำลำคลอง จับคนที่เป็นชาวบ้านและสัตว์กินเพื่อความสนุกสนาน

          ณ หมู่บ้านดงเศรษฐี แขวงเมืองพิจิตร มีพี่น้องฝาแฝดคู่หนึ่ง มีความงามเป็นที่เลื่องลือ ชื่อนางตะเภาแก้ว ผู้พี่ และนางตะเภาทองผู้น้อง ทั้งสองเป็นบุตรเศรษฐีคำ และคุณนายทองมา วันหนึ่งนางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองได้ลงไปเล่นน้ำที่ท่าหน้าบ้าน ช่วงเวลานั้นเจ้าชาละวัน ซึ่งเป็นจระเข้ได้ออกมาว่ายน้ำหาเหยื่อ เมื่อได้เห็นนางตะเภาทอง ก็ลุ่มหลงในความงาม จึงโผล่ขึ้นเหนือน้ำเข้าไปคาบนางตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทอง อันเป็นที่อยู่ของเจ้าชาละวัน

          เมียของชาละวัน คือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้ เพราะเกรงกลัวจึงต้องยอมให้ผัวมีเมียเป็นมนุษย์อีกคน เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมาเจ้าชาละวันก็เกี้ยวพาราสี แต่นางตะเภาทองก็ไม่สนใจ เจ้าชาละวันจึงจำต้องใช้เวทมนตร์สะกดให้นางตะเภาทองหลงรัก และยอมเป็นภรรยาตั้งแต่นั้นมา

          เศรษฐีคำและคุณนายทองมาโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ที่นางตะเภาทองบุตรสาวคนเล็กถูกเจ้าชาละวันคาบไป และคิดว่าบุตรสาวตนคงตายไปแล้ว ด้วยความรักในบุตรสาวและความแค้นในเจ้าชาละวัน จึงประกาศออกไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้วด้วย

          แต่ก็ไม่มีหมอจระเข้คนไหนสามารถปราบเจ้าชาละวันได้ นอกจากกลายเป็นเหยื่อของเจ้าชาละวันคนแล้วคนเล่า จนในที่สุดก็มีชายหนุ่มรูปงามนามว่า ไกรทอง ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ได้อาสามาปราบเจ้าชาละวัน แต่อาจารย์คงรู้ว่าเจ้าชาละวันเป็นพญาจระเข้มีอำนาจมาก และหนังเหนี่ยว ฆ่าฟันไม่ตาย เนื่องจากมีเขี้ยวเพชรทำให้อยู่ยงคงกระพัน จึงได้มอบหอกสัตตโลหะ , เทียนระเบิดน้ำ เสื้อยันต์และลูกประคำปลุกเสก แก่ไกรทอง

          รุ่งเช้าตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมอ่านคาถา ทำให้เจัาชาละวันเกิดร้อนลุ่มต้องออกจาก ถ้ำขึ้นมาต่อสู้กับไกรทอง ไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ และแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกได้ทิ่มแทงเจ้าชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และได้หนีกลับไปที่ถ้ำ แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำตามไปต่อสู้อีกในถ้ำ

          ระหว่างที่เข้าไปในถ้ำไกรทองก็พบกับวิมาลา เมียของชาละวัน ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสี นางวิมาลาจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ และบอกทางไปช่วยนางตะเภาทอง

          ไกรทองตามมาต่อสู้กับเจ้าชาละวันในถ้าต่อจนเจ้าชาละวันตาย และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากจึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน ไกรทองจอมเจ้าชู้ก็รับไว้ ด้วยความยินดี

          แต่ยังไม่จบแค่นั้นด้วยความเจ้าชู้ของไกรทองแม้ชาละวันตายไป ไกรทองก็ยังหลงรสรักกับนางวิมาลา จึงไปหาสู่ที่ถ้ำทอง และคิดจะพานางวิมาลาไปอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็มมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองจับได้ว่า สามีไปมาหาสู่นางจระเข้ จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์


นิทานพื้นบ้านภาคกลาง : บางแม่หม้าย (จ.สุพรรณบุรี)

          มีเรื่องเล่ากันว่ามีชายหนุ่มสองพี่น้องผูกสมัครรักใคร่สาวทางบ้านบางแม่หม้าย จนถึงได้สู่ขอและกำหนดนัดวันแต่งงาน เมื่อถึงกำหนดฝ่ายเจ้าบ่าวก็เคลื่อนขบวนสำเภาขันหมากมารับพวกมโหรีที่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบางซอซึ่งวงมโหรีได้บรรเลงเพลงมาตามทางอย่างสนุกสนาน แต่ที่สนุกที่สุดก็เมื่อเดินทางมาถึงย่านน้ำอันกว้างใหญ่ อุดมไปด้วยสัตว์น้ำที่ดุร้าย คือ จระเข้ได้เกิดพายุใหญ่พัดจนสำเภาล่มจึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า บ้านสำเภาล่ม หรือสำเภาทะลายปัจจุบันเรียก บ้านสำเภาทอง

          เมื่อเรือล่ม บางคนก็จมน้ำตาย บางคนก็ถูกจระเข้คาบไป เจ้าบ่าวถูกจระเข้คาบว่ายไปทางทิศเหนือ ถึงบ้านเจ้าสาวเมื่อพวกเจ้าสาวเห็นก็จำได้จึงไปบอกเจ้าสาว.. เจ้าสาวเสียใจมากวิ่งตามตลิ่งตามดูเจ้าบ่าวไปจนถึงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตามไปได้ทันท่วงทีจึงได้แต่แลมองไปจนสุดสายตาที่ที่เจ้าสาวยืนมองอยู่นี้ ต่อมาเรียกว่า วัดบ้านสุด

          แม้กระนั้นนางก็มิได้ท้อถอยมุ่งหน้าติดตามไปเรื่อย ๆ จนเหนื่อยอ่อนจึงนั่งพักที่โคกแห่งหนึ่งต่อมาได้ชื่อว่า "โคกนางอ่อน" เมื่อหายเหนื่อย นางก็ตามต่อไปอีกจนถึงโพนางเซาต่อมานางได้ข่าวว่า มีจระเข้คาบคนรักไปทางทิศใต้ จึงย้อนกลับมาและพบศพนางจึงนำศพมาฌาปนกิจที่วัดต่อมาวันนั้นชื่อว่า "วัดศพ" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประสบสุขและบ้านเจ้าสาวจึงได้ชื่อว่า "บางแม่หม้าย" มาจนทุกวันนี้


อ่านต่อ http://hilight.kapook.com/view/80973


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

          ครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วที่บ้านตาดทอง ในฤดูฝนมีการเตรียมปักดำกล้าข้าวทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก  ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ  ไม่ปรากฏชื่อหลักฐาน ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสาย  ตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน  ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ

          เขาจึงหยุดไถนาเข้าพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้าสายตาเหม่อมองไปทางบ้าน  รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา  ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูงแดดยิ่งร้อนความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้น

          ทันใดนั้นเขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อย ๆ  ห้อยต่องแต่งอยู่บนเสาแหรกคาน  เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก  ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย  อารมณ์พลุ่งพล่าน  เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่  จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า

          "อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก
          ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อย ๆ กูจะกินอิ่มหรือ?"

          ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า "ถึงก่องข้าวจะน้อย ก็น้อยต้อนเต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย  ลองกินเบิ่งก่อน"

          ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใด ๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว กินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี  รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่ อนิจจา แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว..

          ชายหนุ่มร้อยไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ  ไม่รู้จะทำประการใดดี  จึงเข้ากราบ นมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด

          สมภารสอนว่า "การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง"

          เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ จึงให้ชื่อว่า "ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" จนตราบทุกวันนี้

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องพญาคันคาก

            "คันคาก" ในภาษาอีสานที่แปลว่า "คางคก" เรื่อง "พญาคันคาก" อันเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นบุญเดือนหกในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน
            ณ เมืองชมพู พระนางสีดา มเหสีของพญาเอกราชผู้ครองเมือง ได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก ซึ่งคันคาก แปลว่าคางคก

            เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทพร้อมทั้งประทานนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่ให้เป็นชายา ส่วนท้าวคันคากเอง ก็ถอดรูปกายคันคากออกให้ กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม

            พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า พญาคันคาก พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือพญาแถน ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน จึงแกล้งงดสั่งพญานาคให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองจึงไปร้องขอพญาคันคากให้ช่วย

            พญาคันคากจึงเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน โดยส่งมดปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ พญาแถนไม่มีอาวุธ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา กลบหมด เสกงูมากัดกินกบเขียด ก็โดนรุ้ง (แปลว่าเหยี่ยว) ของพญาคันคากจับกิน ทั้งสัตว์มีพิษก็ยังไปกัดต่อยพญาแถนจนต้องยอมแพ้ในที่สุด

            พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย

            ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุก ๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบเขียดคางคกที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน

อ่านต่อ http://hilight.kapook.com/view/81805







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น