ภาคกลาง

ภาคกลาง

                
               ภาคกลาง เป็นภูมิภาคตอนกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ติดต่อกับภาคอีสานทางทิศตะวันออกโดยมีทิวเขาเพชรบูรณ์กั้น ติดต่อกับภาคตะวันตก ทิศเหนือติดต่อกับทิวเขาผีปันน้ำ พื้นนี้เคยเป็นดินแดนที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยา และยังเป็นพื้นที่ที่สำคัญของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยตั้งอยู่ และมีประชากรในภูมิภาคมากที่สุดในประเทศ


ภูมิศาสตร์

                 ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยที่ราบซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน เศษดิน กรวดทราย และตะกอนมาทับถมพอกพูนมานับเป็นเวลาล้าน ๆ ปี บริเวณที่ราบของภาคนี้กินอาณาบริเวณตั้งแต่ทางใต้ของจังหวัดอุตรดิตถ์ลงไปจนจรดอ่าวไทย นับเป็นพื้นที่ราบที่มีขนาดกว้างใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตามบางบริเวณของภาคกลาง มีภูเขาโดด ๆ ทางจังหวัดนครสวรรค์และด้านตะวันตกของจังหวัดพิษณุโลก จากหลักฐานทางธรณีวิทยา สันนิษฐานว่าภูเขาโดดเหล่านี้เดิมเคยเป็นเกาะ เพราะน้ำทะเลท่วมขึ้นไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ในหลายยุค พื้นดินยกตัวสูงขึ้น รวมทั้งการกระทำของแม่น้ำหลาย ๆ สายซึ่งมีการกัดเซาะสึกกร่อนและการทับถมพอกพูน ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ของประเทศ

เมื่อพิจารณาตามลักษณะโครงสร้าง บริเวณภาคกลางสามารถแบ่งได้เป็น 3 เขต คือ

1. ภาคกลางตอนบน ได้แก่ บริเวณตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปทางตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย รวมทั้งบางบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ภูมิประเทศโดยทั่วไปในบริเวณตอนบนนี้ ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลูกฟูก (rolling plains) ซึ่งเกิดจากการกระทำของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา ภูมิประเทศที่เป็นลูกฟูกนั้นอาจเกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาเอาเศษหิน กรวด ทรายที่มีขนาดใหญ่และตกตะกอน ก่อนทับถมพอกพูน ถ้าหากเทียบกับดินตะกอนแล้ว ชนิดแรกสามารถต้านทานต่อการสึกกร่อนได้มากกว่าชนิดหลัง ทำให้กลายเป็นภูมิประเทศคล้ายลูกคลื่น มีลูกเนินเตี้ย ๆ สลับกับบริเวณที่ง่ายแก่การสึกกร่อน ซึ่งกลายเป็นร่องลึกมีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูก นอกจากนี้การกระทำของแม่น้ำยังทำให้เกิดที่ราบขั้นบันได (terraces) ที่ราบลุ่มแม่น้ำหรือที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) ของแม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน อีกด้วย ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกของเขตนี้เป็นภูเขาและทิวเขาจรดขอบเขตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวทิวเขาดังกล่าว ได้แก่ ทิวเขาเพชรบูรณ์ 2 ซึ่งต่อเนื่องมาจากทิวเขาหลวงพระบาง ระหว่างทิวเขาเพชรบูรณ์ 1 กับทิวเขาเพชรบูรณ์ 2 มีที่ราบแคบ ๆ ในเขตอำเภอหล่มสักและจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ราบนี้มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านลงไปทางใต้ ทิวเขาเพชรบูรณ์ 2 นี้ส่วนใหญ่เป็นหินแอนดีไซต์ หินไดโอไรต์ยุคเทอร์เชียรี ทางด้านตะวันตกของทิวเขาสูงนี้เป็นที่ราบเชิงเขาสลับลูกเนินเตี้ย ๆ ไปจนจรดที่ราบลุ่มแม่น้ำ

2. ภาคกลางตอนล่าง เป็นที่ราบลุ่มซึ่งเริ่มตั้งแต่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ลงไปจนจรดอ่าวไทย ภูมิประเทศภาคกลางตอนล่างบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินตะกอนที่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงพัดพามา แม่น้ำเหล่านี้เมื่อไหลผ่านบริเวณที่เป็นที่ราบ ความเร็วของกระแสน้ำจะลดลง วัตถุต่าง ๆ ที่ละลายปนมากับน้ำจะตกตะกอนทับถมพอกพูน ซึ่งตะกอนเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทรายละเอียด ดินเหนียว และดินตะกอน บางส่วนไปตกตะกอนในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตะกอนที่ทับถมห่างจากชายฝั่งออกไปไม่ต่ำกว่า 1.5 กิโลเมตร และยังก่อให้เกิดสันดอนในแม่น้ำ ทำให้เกิดอุปสรรคในการคมนาคมทางน้ำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ดินตะกอนที่แม่น้ำพัดพามามีประโยชน์ในการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชหลักของประเทศ ทั้งนี้เพราะดินตะกอนสามารถอุ้มน้ำได้ ความหนาของชั้นดินตะกอนในบางบริเวณที่มีการขุดเจาะเพื่อสำรวจทางธรณีวิทยา พบว่าบางแห่งหนาเกิน 120 เมตร จึงจะถึงหินดินดาน (dedrock) ข้างใต้

3. บริเวณขอบที่ราบ (marginal plain) ได้แก่ ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ราบแคบ ๆ บางบริเวณทางด้านตะวันตกของจังหวัดอุทัยธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม และบางบริเวณทางด้านตะวันออกของจังหวัดสระบุรีและลพบุรี ซึ่งลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวมีความแตกต่างจากที่ลุ่มแม่น้ำในทางธรณีสัณฐานวิทยา ทั้งนี้เพราะหินที่สึกกร่อนกลายเป็นดินรวมทั้งน้ำเป็นตัวการทำให้เศษดิน เศษหิน เหล่านี้มาทับถมในบริเวณเชิงเขา และส่วนที่ต่อแนวของที่ราบลุ่มแม่น้ำเมื่อเปรียบเทียบลักษณะการเกิดพบว่าต่างกัน บริเวณทางด้านตะวันตกของจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะในเขตอำเภอโคกสำโรง เป็นที่ราบสลับลูกเนินเตี้ย ๆ ซึ่งบริเวณนี้สึกกร่อนมาจากหินปูน (ชุดราชบุรี) หินชนวน และหินดินดาน ทำให้ดินมีสีเทาเข้มถึงดำ นอกจากนี้ในบางบริเวณยังมีหินอัคนีแทรกขึ้นมาเป็นหย่อม ๆ มีหินบะซอลต์และหินแอนดีไซต์ปนอยู่ด้วย บางแห่งมีแร่เหล็ก เช่น ที่เขาทับควาย อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี พื้นที่บริเวณขอบที่ราบทั้ง 2 ด้าน ปัจจุบันเป็นแหล่งที่มีความสำคัญในการปลุกพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง และอื่น ๆ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

การแบ่งเขตการปกครอง

               การแบ่งจังหวัดเป็นภูมิภาคด้วยระบบ 6 ภาค เป็นการแบ่งที่เป็นทางการโดยคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติ ใช้ในการศึกษาทางภูมิศาสตร์ โดยภาคกลางของระบบ 6 ภาคนี้ ประกอบไปด้วยเขตการปกครอง 21 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร (ซึ่งเป็นเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด) โดยมีพื้นที่ทางเหนือไปจนสุดเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก และทางใต้ลงไปสุดที่อ่าวไทย ยกเว้นจังหวัดที่ติดกับประเทศพม่า ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขา และยกเว้นจังหวัดทางภาคตะวันออก

                ส่วนภาคกลางของระบบ 4 ภาค (เหนือ กลาง อีสาน ใต้) เป็นการแบ่งที่ไม่เป็นทางการ ประกอบไปด้วยเขตการปกครอง 25 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยมีพื้นที่ทางเหนือถึงแค่จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดลพบุรี และรวมภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเข้ามารวมด้วย นอกจากนี้ เพื่อวัตถุประสงค์เชิงสถิติ จึงมีการแบ่งภาคกลางของระบบ 4 ภาค ออกเป็นภูมิภาคย่อย 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งอย่างไม่เป็นทางการเช่นกัน ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคกลางนอกเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

                นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานที่กำหนดขอบเขตของภาคกลางแตกต่างกันออกไป บางครั้งก็มีการระบุว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่แยกต่างหากจากภาคกลาง หรือระบุว่าภาคกลางไม่มีจังหวัดนครนายก แต่ไปอยู่ภาคตะวันออก เช่น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้ภาคกลางประกอบด้วย 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง เพราะภูมิภาคเป็นการปกครองที่ไม่มีผู้บริหาร ไม่มีเขตที่ชัดเจน การแบ่งจังหวัดเป็นภูมิภาคจึงเป็นเพียงการจัดกลุ่มทางภูมิศาสตร์และสถิติเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จังหวัดในภาคกลางตามการแบ่งที่เป็นทางการ ประกอบไปด้วยจังหวัดต่าง ๆ 21 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

1.จังหวัดกำแพงเพชร
2.จังหวัดชัยนาท
3.จังหวัดนครนายก
4.จังหวัดนครปฐม
5.จังหวัดนครสวรรค์
6.จังหวัดนนทบุรี
7.จังหวัดปทุมธานี
8.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
9.จังหวัดพิจิตร
10.จังหวัดพิษณุโลก
11.จังหวัดเพชรบูรณ์
12.จังหวัดลพบุรี
13.จังหวัดสมุทรปราการ
14.จังหวัดสมุทรสงคราม
15.จังหวัดสมุทรสาคร
16.จังหวัดสิงห์บุรี
17.จังหวัดสุโขทัย
18.จังหวัดสุพรรณบุรี
19.จังหวัดสระบุรี
20.จังหวัดอ่างทอง
21.จังหวัดอุทัยธานี


ภูมิอากาศ

1. ฤดูร้อน ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
2. ฤดูฝน ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม
3. ฤดูหนาว ระหว่างกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ฤดูร้อน

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะเดือนเมษายนบริเวณประเทศไทยมีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ สภาวะอากาศจึงร้อนอบอ้าวทั่วไป ในฤดูนี้แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงหรืออาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพายุฤดูร้อน

ลักษณะอากาศในฤดูร้อนพิจารณาจากอุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
อากาศร้อน อุณหภูมิระหว่าง 35.0 ‘ซ. – 39.9 ‘ซ.
อากาศร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 ‘ซ. ขึ้นไป

ฤดูฝน

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยและร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติจะพาดผ่านภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับจนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนจะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่งและเรียกว่าเป็นช่วงฝนทิ้ง ซึ่งอาจนานประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรงและมีฝนน้อยนานนับเดือน ในเดือนกรกฎาคมปกติร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาทางใต้พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้งทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง จนกระทั่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยแทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณกลางเดือนตุลาคมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เว้นแต่ภาคใต้ยังคงมีฝนชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคมและมักมีฝนหนักถึงหนักมากจนก่อให้เกิดอุทกภัย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งจะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นฤดูฝนอาจจะช้าหรือเร็วกว่ากำหนดได้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์

เกณฑ์การพิจารณาปริมาณฝนในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวันตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันหนึ่งถึงเวลา 07.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ตามลักษณะของฝนที่ตกในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนย่านมรสุมมีดังนี้ี้

ฝนวัดจำนวนไม่ได้ ปริมาณฝนน้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร
ฝนเล็กน้อย ปริมาณฝนระหว่าง 0.1 – 10.0 มิลลิเมตร
ฝนปานกลาง ปริมาณฝนระหว่าง 10.1 – 35.0 มิลลิเมตร
ฝนหนัก ปริมาณฝนระหว่าง 35.1 – 90.0 มิลลิเมตร
ฝนหนักมาก ปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป

ฤดูหนาว

เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนานราว 1-2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวน ไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็นหรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกลงไปซึ่งจะหมดฝนและเริ่มมีอากาศเย็นช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะอากาศในฤดูหนาวพิจารณาจากอุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้

อากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 ‘ซ.
อากาศหนาว อุณหภูมิระหว่าง 8.0 ‘ซ. – 15.9 ‘ซ.
อากาศเย็น อุณหภูมิระหว่าง 16.0 ‘ซ. – 22.9 ‘ซ.

ทรัพยากรทางสังคม

อาหาร

เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลอง หนองบึงมากมาย
จึงเป็นแหล่งอาหารทั้งพืชผักและสัตว์น้ำนานาชนิด พื้นที่บางส่วนติดชายฝั่งทะเลทำให้วัตถุดิบ
ในการประกอบอาหารหลากหลายอุดมสมบูรณ์


น้ำพริกกะปิ


ขนมจีนน้ำยา


ห่อหมกปลา

ประเพณี
  • ประเพณีตักบาตรดอกไม้
  • ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
  • ประเพณีวิ่งควาย
  • ประเพณีกวนข้าวทิพย์
  • ประเพณีตักบาตรเทโว
  • ประเพณีทำขวัญข้าว
  • ประเพณีกำฟ้า
  • ประเพณีโยนบัว

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง

                    วัฒนธรรมท้องถิ่น ภาคกลางส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ แต่ลักษณะที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคม และค่านิยมในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ลักษณะวัฒธรรมและนวบธรรมเนียมประเพณีโดยรวมมีความเกี่ยวเนื่องกับพีธีกรรมในพระพุทธศาสนา และพีธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในการดำเนินชีวิต ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวัฒนธรรมไทยตัวอย่างขอวัฒนธรรมทางภาคกลางท่ำคัญ มีดังนี้
1.ด้านศาสนาและลักธิความเชื่อ เช่น ประเพณีการรับบัวโยนบัว การบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น
ประเพณีรับบัวโยนบัวมีขึ้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นประเพณีที่ปฎิบัติสืบทอดกันมากกว่า 80 ปี โดยชาวบ้านเชื่อตามตำนานว่า หลวงพ่อโตลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยามาหยุดที่ปากคลองำโรงเป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าพรรษาอยู่ในละแวกนั้นอย่างแน่นอน
การบูชารอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยที่รอยพระพุทธบาทเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เพราะเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติและศาสนา เป็นที่รู้จักแพร่หลายของประชาชน และเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
2.ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางการเกษร การทำขวัญข้าวเป็นประเพณีที่ยังคงทำกันอย่างกว้างขวางในหมู่บ้านของคนไทยภาคกลาง ไทยพวน และไทยอีสานทั่วไป ผู้ที่จะเรียกขวัญข้าวจะเป็นผู้หญิงซึ่งจะแต่งกายให้สวยงามกว่าธรรมดา เครื่องประดับ ชองหอมต่างๆ หมาก พลู และบุหรี่ ใส่ลงไปในเรือนขวัญข้าว
3.ด้านยาและการรักษาพื้นบ้าน จากการศึกษาค้นคว้าละรวบรวมตำรายาพื้นบ้านในจังหวัดชลบุรี โดยได้มีการสัมภาษณ์แพทย์แผนโบราณ และค้นคว้าจากตำรายาที่บันทึกอยู่ในใบลาน สมุดข่อยขาว สมุดข่อยดำ ประเพณีวัฒนธรรมของคนภาคกาง คือ งานพีธีการท้งกระจาดของ จังหวัดสุพรรณบุรี งานประเพณีแห่เจ้าพ่อแม่ปากน้ำโพ จังนครสวรรค์ งานประเพณีตักบาตรเทวโวของจังหวัดอุทัยธานี ประเพณีตักบาตรน้ำผึ่ง จังหวัดฉะเฉิงเทรา ประเพณีพระเจดีย์ทราย จังหวัดฉะเฉิงเทรา ประเพณีกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปยาส จังหวัดชัยนาท

สถานที่ท่องเที่ยวภาคกลาง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร




           กรุงเทพมหานคร มหานครแห่งความยิ่งใหญ่ มหานครแห่งความรัก ความหวัง และการสรรค์สร้าง มหานครที่มีร่องรอยของประวิติศาสตร์อันงดงาม เป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่เต็มเปี่ยมด้วยแรงศรัทธา เป็นที่ที่จะหาความสุขได้หลากหลายจากอาหารเลิศรส ที่พักทันสมัย แหล่งช็อปปิ้งที่ละลานตา และสถานบันเทิงที่พรั่งพร้อมความทันสมัยไม่น้อยหน้าที่ใดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกลงความเห็นว่า กรุงเทพมหานครคือสถานที่ที่น่าท่องเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ปัจจุบันในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เดินทางมาเยี่ยมชมความงดงามของงานสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของช่างสิบหมู่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนมาก


พระปฐมเจดีย์ นครปฐม



             จังหวัดนครปฐม จังหวัดเล็ก ๆ ใกล้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงมีผลไม้ขึ้นชื่อมากมาย โดยเฉพาะส้มโอจนได้ชื่อว่า "เมืองส้มโอหวาน" และอาหารขึ้นชื่ออีกนานาชนิด

            นครปฐม เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนมาก ที่บ่งบอกว่าบริเวณนี้ เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงในสมัยทวารวดี มีปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือ "พระปฐมเจดีย์" ซึ่งนับเป็นร่องรอยของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เข้ามาในประเทศไทยในยุคแรก ๆ

            พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศกำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า อันเป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี

          จังหวัดนครปฐม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งให้ได้ลองสัมผัส อาทิ ภาพพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย, ส้มโอ, สวนสามพราน, โรสการ์เด้น, ตลาดน้ำวัดลำพญา, ดอนหวาย, กล้วยไม้ และตลาดบางหลวง



อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา


            จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอด 417 ปีแห่งการเป็นราชธานีของไทย อยุธยา ได้สั่งสมความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของชนชาติไทยไว้มากมาย จนองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก อยุธยาเป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและก่อเกิดเป็นสายน้ำแห่งอารยธรรม ที่ไหลผ่านอดีตกาลนำความภาคภูมิใจสู่ลูกหลานไทยในปัจจุบัน

          อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ของเกาะเมืองอยุธยานั้น ซุกซ่อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าอัศจรรย์ใจไว้มากมาย ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเที่ยวได้หลายวิธีทั้งการนั่งรถราง, นั่งช้าง หรือจะเลือกชมยามค่ำคืนที่มีการจัด Mini Light @ Sound ก็ได้


อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี



จังหวัดราชบุรี ดินแดนแห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง และสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีที่หลากหลาย ผสมผสานความงดงามและอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและลงตัว วันนี้ราชบุรี เมืองเล็ก ๆ ใกล้กรุงเทพฯ มิใช่มีเพียงแต่ตลาดน้ำและโอ่งเท่านั้น แต่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ และบูติกรีสอร์ทในฝันของใครหลาย ๆ คน

          อำเภอสวนผึ้ง แหล่งพักผ่อนในวันสบาย ๆ เติมความสุขให้วันหยุดอย่างคุ้มค่า กับกิจกรรมท่องเที่ยวมากมายหลากหลาย สัมผัสธรรมชาติที่บริสุทธิ์ อากาศมันหนาวเป็นเรื่องแปลก แต่จริงที่เกิดขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย นั่นเพราะสวนผึ้งอยู่ในอ้อมล้อมของขุนเขาตะนาวศรี ระดับความสูงของขุนเขาบางแห่ง อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร



อ่านแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมที่นี่ http://www.unseentravel.com/zone/2/1
อ่านประเพณีภาคกลางได้ที่นี่    http://xn--k3cpjt9d6a4e.net/category/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%93%e0%b8%b5%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%87/


1 ความคิดเห็น: