อาหารไทยตามภาค

อาหารไทยตามภาค

ภาคกลาง



พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ข้าวปลาอาหารจึงอุดมสมบูรณ์เกือบตลอดทั้งปี รวมทั้งมีพืชผัก ผลไม้นานาชนิด

ด้วยเหตุนี้อาหารภาคกลางจึงเป็นอาหารที่มีความหลากหลาย ทำให้รสชาติของอาหารภาคกลางไม่เน้นไปทางรสใดรสหนึ่งโดยเฉพาะ คือมีทั้งรสเค็ม เผ็ด เปรี้ยว และหวานคลุกเคล้าไปตามชนิดต่างๆของอาหาร นอกจากนี้มักมีการใช้เครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น เครื่องเทศ และมักใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหาร

อาหารภาคกลางเป็นอาหารที่มักจะมีเครื่องเคียงของแนมร่วมรับประทานด้วย เช่น น้ำพริกลงเรือ แนมด้วยหมูหวาน น้ำปลาหวานทานกับสะเดา เป็นต้น

จุดเด่นคือ อาหารภาคกลางมักจะมีการประดิษฐ์ สร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง ผัก และผลไม้มีการแกะสลักอย่างสวยงาม แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่มีศิลปะและวัฒนธรรมที่งดงาม


ภาคใต้



พื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล ประชากรส่วนใหญ่จึงนิยมทำประมง

ด้วยเหตุนี้อาหารหลักของภาคใต้จึงเป็นอาหารทะเลสด และนิยมใช้เครื่องเทศในการปรุงอาหาร รสชาติจะเผ็ดร้อน เค็มและเปรี้ยว เช่น แกงไตปลา แกงส้ม และแกงเหลือง เป็นต้น

อาหารภาคใต้นิยมทานควบคู่กับผักเพื่อช่วยลดความเผ็ดร้อนลง ซึ่งเรียกว่า ผักเหนาะ เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู สะตอเป็นต้น


ภาคเหนือ



             เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ
การรับประทานอาหารของทางภาคเหนือจะใช้โก๊ะข้าว หรือที่เรียกว่า ขันโตก แทน โต๊ะอาหาร โดยจะนั่งล้อมวงเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน
              คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยอาหารของทางภาคเหนือจะเป็นอาหารที่สุกมากๆ และเป็นอาหารประเภทที่ผัดกับน้ำมันเป็นส่วนใหญ่


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



            เป็นดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทำให้อาหารพื้นเมืองจึงเป็นอาหารพวกแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรในภาคนี้
            อาหารอีสานส่วนใหญ่จะมีข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ส่วนพืชผัก และเนื้อสัตว์ที่นำมาใช้ประกอบอาหารได้มาจากภายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
            อาหารอีสานมักใช้ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารเกือบทุกชนิด แต่ไม่นิยมใส่ในอาหารประเภทผัด และมักรับประทานคู่กับผักสด

ที่มา http://www.thaifoodtoworld.com/home/nativerecipe.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น