การแสดงพื้นเมือง เป็นการแสดงเพื่อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม แต่ละท้องถิ่น ดังนั้นการแบ่งประเภทของการแสดงพื้นเมืองของไทย โดยทั่วไปจะแบ่งตามส่วนภูมิภาค ดังนี้
๑. การแสดงพื้นเมืองของภาคเหนือ
๒. การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง
๓. การแสดงพื้นเมืองของอีสาน
๔. การแสดงพื้นเมืองของใต้
กล่าวได้ว่าการแสดงพื้นเมืองในแต่ละภาคจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของมูลเหตุแห่งการแสดง ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้
๑. แสดงเพื่อเซ่นสรวงหรือบูชาเทพเจ้า เป็นการแสดงเพือแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเซ่นบวงสรวงดวงวิญญาณที่ล่วงลับ
๒. แสดงเพื่อความสนุกสนานในเทศกาลต่างๆ เป็นการรำเพื่อการรื่นเริง ของกลุ่มชนตามหมู่บ้าน ในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่าง ชาย – หญิง
๓. แสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการรำเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ หรือใช้ในโอกาสต้อนรับแขกผู้มาเยือน
๔. แสดงเพื่อสื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอันเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมประเพณีเพื่อสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ศิลปะการแสดงทางภาคเหนือ เป็นลักษณะศิลปะที่มีการผสมผสานกันระหว่างชนพื้นเมืองชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทยลานนา ไทยใหญ่ เงี้ยว รวมถึงพวกพม่าที่เคยเข้ามาปกครองล้านนาไทย ทำให้นาฏศิลป์หรือการแสดงที่เกิดขึ้นในภาคเหนือมีความหลากหลาย แต่ยังคงมีเอกลักษณ์เฮพาะที่แสดงถึงความนุ่มนวลของท่วงท่า และทำนองเพลงประกอบกับความไพเราะของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่มีความเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็น เป้ยะ สล้อ ซอ ซึง และกลอง ที่ปรากฏอยู่ในการฟ้อนประเภทต่างๆ รวมทั้งการแสดงที่มีความเข้มแข็ง หนักแน่นในแบบฉบับของการตีกลองสะบัดชัย และการตบมะผาบ
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือนอกจะมีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองเดิม ไทยลานนา ไทยใหญ่ เงี้ยวรวมถึงพม่า ผสมกันอยู่แล้ว ยังมีลักษณะการแสดงของภาคกลางรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชายา พระนามว่าเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำให้อิทธิพลการแสดงของภาคเหนือในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีมีลักษณะของภาคกลางปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถแบ่งลักษณะการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือได้เป็น ๓ ลักษณะ
๑.ลักษณะการฟ้อนแบบพื้นเมืองเดิม เป็นการแสดงที่มีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไป เช่น ฟ้อนครัวทาน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน เป็นต้น
๒.ลักษณะการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น อาทิ พม่า ไทยใหญ่ เงี้ยว เช่น ฟ้อนไต ฟ้อนโต ฟ้อนเงี้ยว เป็นต้น
๓.ลักษณะการฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนน้อยใจยา เป็นต้น
ปัจจุบันการแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ สร้างสรรค์จากท่า และทำนองเพลงพื้นเมืองล้านนา ใช้หัตกรรมพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น ฟ้อนผาง ฟ้อนที เป็นต้น
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่
– ฟ้อนผีมด ฟ้อนผีเม็ง เป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ
– ฟ้อนกิงกะหลา เป็นการฟ้อนเรียนแบบนก มีลักษณะเป็นการรำคู่ เกี้ยวพาราสีหรือหยอกล้อเล่นหัวกัน
– ฟ้อนผีนางดัง เป็นการฟ้อนของชาวล้านนา นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์
– ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนที่แสดง ถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า
– ฟ้อนดาบ เป็นการแสดงถึงศิลปะการป้องกันตัวด้วยมีดดาบ
– ฟ้อนจ๊าด เป็นการฟ้อนที่เล่นเป็นเรื่องราวแบบโบราณ นิยมแสดงในงานศพ และงานเทศกาลต่างๆ
– ตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่า โดยใช้มือตบไปตามร่างกายด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดเสียงดัง
– ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงาม โดยผู้ฟ้อนสวมเล็บสีทอง
– ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับฟ้อนเล็บ แต่จะฟ้อนเวลากลางคืน โดยผู้ฟ้อนจะถือเทียน
– ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นการฟ้อนที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีทรงประดิษฐ์ร่วมกับครูช่างฟ้อนของพม่า โดยใช้ท่ารำของราชสำนักพม่าผสมท่าฟ้อน โดยใช้ท่ารำของสำนักพม่าผสมท่าฟ้อนของไทย
– ฟ้อนล่องน่าน หรือฟ้อนน้อยใจยา เป็นการฟ้อนเพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่องน้อยใจยา มีลักษณะการรำคู่ระหว่างชายกับหญิง
– ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการทอผ้าไหม ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ
– ฟ้อนเก็บใบชา เป็นการฟ้อนที่แสดงถึงกรรมวิธีการเก็บใบชา ซึ่งเป็นอาชีพของชาวไทยภาคเหนือ
– ฟ้อนปั่นฝ้าย เป็นการฟ้อนที่นิยมแสดงเพื่อคั่นการขับซอ ผู้ฟ้อนจะแสดงกิริยาเลียนแบบการปั่นฝ้าย
– ฟ้อนหางนกยูง เป็นการฟ้อนที่ใช้หางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบ เป็นการฟ้อนเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของชาวล้านนา มีหางนกยูงเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง
– ฟ้อนที เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง ใช้ทำนองเพลงเหมยมุงเมือง
– ฟ้อนผาง เป็นการฟ้อนโดยใช้ผู้แสดงหญิงล้วน แต่งกายพื้นเมือง อุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ ตะคันดินเผาจุดเทียน
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ ด้วยเหตุที่ภาคใต้เป็นภาคที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาลาเชีย และเป็นดินแดนที่ติดทะเล ทำให้เกิดการผสมผสานทั้งทางศาสนา วัฒนธรรม และอารยธรรมจากกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เกี่ยวโยงถึงศาสนาและพิธีกรรม จนทำให้นาฏศิลป์ และดนตรีในภาคใต้มีลักษณะที่เป็นเครื่องบันเทิงทั้งในพิธีกรรม และพิธีชาวบ้าน รวมทั้งงานรื่นเริงโดยมีลักษณะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีจังหวะที่เร่งเร้า กระฉับกระเฉง ผิดจากภาคอื่นๆ และเน้นจังหวะมากกว่าท่วงทำนอง โดยมีลักษณะที่เด่นชัดของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีให้จังหวะเป็นสำคัญ ส่วนลีลาท่ารำจะมีความคล่องแคล่วว่องไว สนุกสนาน การแสดงพื้นเมืองภาคใต้มีทั้งแบบพื้นเมืองเดิม และแบบประยุกต์ที่ได้แนวความคิดมาแล้วพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ หรือรับมาบางส่วนแล้วแต่งเติมเข้าไป
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่
– หนังตะลุง เรียกว่า “หนัง” หรือ “หนังควน” ในสมัยโบราณนิยมแสดงในงานนักขัตฤกษ์ และงานฉลองต่างๆ
– ลิเกป่า เป็นการแสดงพื้นเมืองภาคใต้อีกอย่างหนึ่ง นิยมแสดงในงานทั่วไปหรือใช้ในงานแก้บน
– โนรา เป็นการแสดงแบบโบราณที่มีมาช้านาน นิยมแสดงเพื่อความเป็นสิริมงคล
– โต๊ะครึม เป็นการแสดงประกอบการเข้าทรง เพื่อบูชาสิ่งศักสิทธิ์ หรือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ
– สิละ เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า
– รองเง็ง เป็นการแสดงของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมมาก เป็นการเต้นรำระหว่างหญิง–ชาย ในงานมงคล
– ซัมเป็ง เป็นการรำตามจังหวะเพลง แสดงในงานรื่นเริงต่างๆหรืองานต้อนรับแขกเมือง
– มะโยง เป็นศิลปะการแสดงละครของชาวไทยมุสลิมจากวังรายา เมืองปัตตานีในอดีต ใช้ผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ยกเว้นตัวตลก พระเอกเรียกว่าเปาะโย่ง นางเอกเรียกว่ามะโยง
– ตารีกีปัส เป็นการรำพัด ซึ่งเกิดจากการผสมผสานกับการแสดงของมาเลเซียในเพลงชื่อบัวกาน่า วงดนตรีพื้นบ้านผสมสากล แสดงได้สองแบบคือชาย–หญิง และหญิงล้วน
– ร่อนแร่ เป็นการแสดงที่นำกรรมวิธีร่อนแร่มาสร้างสรรค์ลีลาท่ารำ
– ปาแต๊ะ เป็นการแสดงระบำพื้นเมือง ลีลาท่ารำนำมาจากกรรมวิธีการย้อมทำลวดลายโสร่งปาเต๊ะของไทยมุสลิม ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
การแสดงพื้นเมืองของภาคกลาง ภาคกลางเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านกสิกรรม และเกษตรกรรม ทำให้เป็นภาคที่มีความสมบูรณ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่สุขสบาย การแสดงหรือการละเล่น ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะที่สนุกสนาน หรือเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกัน เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว หรือเป็นการแสดงพื้นเมืองที่สื่อให้เห็นการประกอบอาชีพ
การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่
– รำโทน เป็นการรำ และการร้องของชาวบ้าน โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เป็นการร้อง และการรำไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนหรือท่ารำที่กำหนดแน่นอน
– รำกลองยาว เป็นการแสดงเพื่อความรื่นเริง ในขบวนแห่ต่างๆ ของไทยมีผู้แสดงทั้งชาย และหญิง ออกมรำเป็นคู่ๆ โดยมีผู้ตีกลองประกอบจังหวะ พร้อม ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง
– ระบำชาวนา เป็นวิถีชีวิตความเป็นมาที่พากันออกมาไถนาหว่าน และเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวเจริญงอกงาม หลังจากนั้นพากันร้องรำเพลงด้วยความสนุกสนาน
– เต้นกำรำเคียว เป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นกันตามท้องนา ผู้แสดงทั้งชายและหญิงถือเคียวมือหนึ่งถือถือรวงข้าว ร้องเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน
– รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า เป็นการละเล่นที่แสดงวิธีชีวิตอันสนุกของชาวบ้านหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการร้องรำ เกี้ยวพาราสีระหว่างชาย–หญิง เริ่มการแสดงด้วยการประโคมกลองยาว จบแล้วผู้แสดงชาย–หญิง ออกรำทีละคู่
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ศิลปะการแสดงภาคอีสาน จะมีลักษณะคล้ายภาคเหนือ ในการรวมกลุ่มของชนชาติต่างๆ เช่นพวกไทยลาว ภูไทย ไทยพวน แสก โซ่ แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างตามเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ แต่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นการแสดงที่เกิดขึ้นเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา และความสนุกสนานรื่นเริงในเทศกาลต่างๆ การร่ายรำจะมีลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ก้าวเท้า การวาดแขน การยกเท้า การส่ายมือ การส่ายสะโพก ที่เกิดขึ้นจากท่าทางอันเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาประดิษฐ์หรือปรุงแต่งให้สวยงามตามแบบท้องถิ่นอีสานเช่นทำท่าทางลักษณะเเอ่นตัวแล้วโยกตัวไปมา เวลาก้าวตามจังหวะก็มีการกระแทกกระทั้นตัว ดีดขา ขยับเอว ขยับไหล่ เน้นความสนุกสนาน
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชนพื้นเมืองกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การแสดงพื้นเมืองภาคอีสานจะมีทั้งการแสดงที่เป็นแบบดั่งเดิมที่มีการสืบทอดกันมา และการแสดงที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปตามความถนัดหรือความสามารถของแต่ละคน โดยไม่มีระเบียบแบบแผน
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่
– กันตรึม เป็นการแสดงเพื่อบูชาหรือบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ
– ฟ้อนภูไท เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และฟ้อนในงานประเพณีต่างๆ
– เซิ้งตังหวาย เป็นการแสดงเพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในงานพิธีกรรมต่างๆ
– เซิ้งบั้งไฟ เป็นการฟ้อนในพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขอฝน
– เรือมจับกรับ เป็นการแสดงที่ใช้ผู้ชายถือกรับออกมาร่ายรำไปตามจังหวะเพลงโดยไม่มีแบบแผน หรือทำท่าที่แน่นอน เป็นการรำเพื่อความสนุกสนาน
– เรือมอันเร หรือ กระทบไม้ บางทีก็เรียกว่า แสกเต้นสาก เป็นการแสดงที่ใช้ไม้ไผ่มากระทบกันตามจังหวะเพลง แล้วผู้รำก็กระโดดข้ามไม้ด้วยท่าทางต่างๆ
– มวยโบราณ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แสดงถึงความกล้าหาญ เข้มแข็ง นิยมแสดงในเทศกาลต่างๆ